ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหินทันทีที่ลงจากขบวนรถไฟที่สถานีรถไฟหัวหิน แสงแดดหน้าร้อนก็เข้าโจมตีผมอย่างไร้ปราณี ผมจำเป็นต้องสู้รบกับมันด้วยแว่นกันแดดและหมวกแก็ปโดยที่ไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ เพราะสถานีรถไฟหัวหินมีมุมถ่ายรูปสวย ๆ เยอะแยะมากมาย รวมไปถึงสถานที่แห่งหนึ่งที่ผมต้องแวะไปเยี่ยมเยียนให้ได้คือห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหิน

ปู๊นปู๊น ฉึกฉัก เสียงหวูดรถไฟและเสียงล้อเหล็กกระทบรางก้องอยู่ในหัวของผมตลอดเวลาทั้ง ๆ ที่รถไฟออกจากสถานีไปนานแล้ว คงจะเป็นเสียงก้องจากความทรงจำวัยเด็ก ซึ่งก็คงจะไม่ต่างจากใครหลายคนนักที่ตอนเด็ก ๆ เราชอบเดินเรียงแถวเกาะไหล่เพื่อนข้างหน้าพร้อมส่งเสียงร้องดังปู๊นปู๊น ฉึกฉัก

รถไฟคงจะเป็นพาหนะขวัญใจของเด็ก ๆ ได้ทุกยุคทุกสมัย ผมคิดเช่นนี้เพราะว่าทันทีที่ผมก้าวเข้ามาในห้องสมุดรถไฟ ผมก็เจอเด็ก ๆ นั่งกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ อยู่ที่มุมหนังสือเด็ก บริเวณรอบ ๆ มีหนังสือนิทานกับของเล่นต่าง ๆ วางระเกะระกะ

“มานี่สบายกว่า น้องชอบที่นี่เพราะมันเป็นรถไฟ” คุณตาของน้องน้ำหวานเล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เลือกพาหลานมาอ่านหนังสือที่นี่ทั้ง ๆ ที่ในหัวหินมีห้องสมุดสาธารณะถึงสามแห่ง ในขณะที่น้องน้ำหวานกำลังกึ่งนั่งกึ่งนอนอ่านหนังสือนิทานเล่มเล็กด้วยสีหน้าอมยิ้ม

ห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดการรถไฟฯแห่งที่ 3 ของประเทศไทย เริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหินแห่งนี้

ตัวห้องสมุดดัดแปลงมาจากรถกำลังดีเซลรางมีห้องขับ (กซข.ป.) จำนวน 2 คัน คือหมายเลข 101 กับหมายเลข 209 ซึ่งสร้างโดย บริษัท JR-West (West Japan Railway Company) ประเทศญี่ปุ่น การรถไฟแห่งประเทศไทยนำเข้ามาใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2541 เคยถูกนำมาใช้เป็นรถโบกี้ชั้น 3 (บชส.) ชั่วคราว เพื่อใช้งานระหว่างการประชุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 20 พ.ศ. 2546 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอีกด้วย

“เป็นตู้รถไฟเก่าครับ เป็นตู้รถไฟปลดระวาง มันใช้ไม่ได้แล้ว ก็เลยเอามาทำเป็นห้องสมุด” พี่บรรณารักษ์เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของห้องสมุดเก๋ ๆ แห่งนี้ ตู้รถไฟเก่าใช้ประโยชน์ในการขนส่งไม่ได้แล้วการรถไฟแห่งประเทศไทยเลยนำมาปรับปรุงดัดแปลงให้เป็นห้องสมุดเสียเลย ไอเดียชนะเลิศเพราะนอกจากจะไม่เสียของแล้ว ยังกลายเป็นแหล่งเรียนและเล่นให้กับเด็ก ๆ เยาวชน ทั้งประชาชนทั่วไป รวมไปถึงนักท่องเที่ยวอย่างผมได้อีกด้วย

ยิ่งผมเดินลึกเข้าไปในห้องสมุดก็ยิ่งรู้สึกถึงบรรยากาศของรถไฟได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโต๊ะเก้าอี้สำหรับอ่านหนังสือก็ยังใช้ชุดเก้าอี้แบบที่ใช้กันในตู้รถไฟจริง ๆ ถ้าได้นั่งอ่านหนังสือที่นี่คงได้อารมณ์คล้าย ๆ กับการอ่านหนังสือขณะเดินทาง

แม้จะไม่ใหญ่โตมากนัก แต่ห้องสมุดการรถไฟฯ หัวหินก็มีหนังสือหลากหลายหมวดหมู่ให้ได้เลือกอ่านกัน เช่น นวนิยาย ธรรมะ ท่องเที่ยว อาหาร และอื่น ๆ อีกมาก รวมทั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ มีการรับสมัครสมาชิกและยืมคืนหนังสือเหมือนห้องสมุดประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ภายในห้องสมุดยังมีภาพพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟไทยให้ได้ชมอีกด้วย ทำให้ห้องสมุดแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับกิจการรถไฟไทยได้อีกทางหนึ่ง

เมื่อสำรวจจนทั่วแล้วก็ได้เวลาที่ผมจะนั่งพักอ่านหนังสือบนรถไฟขบวนนี้เสียที แม้อากาศจะร้อนอยู่ซักหน่อย แต่หน้าต่างบานใหญ่ของตู้รถไฟก็ทำให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่อึดอัด เมื่อได้ที่นั่งเหมาะ ๆ แล้วผมก็ขอปล่อยกายปล่อยใจไปกับหนังสือและรถไฟบ้างครับ

แว่วเสียงปู๊นปู๊น ฉึกฉักมาอีกรอบหนึ่ง ผมไม่แน่ใจว่าเสียงดังมาจากรถไฟจริง ๆ บนสถานีฝั่งตรงข้าม หรือมาจากจินตนาการเคลิ้มฝันของผมเอง แต่ไม่ว่ามันจะมาจากไหนก็ตาม แทนที่จะหนวกหูรำคาญผมกลับรู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้นกับการอ่านหนังสือยามบ่ายบนรถไฟเก๋ ๆ ขบวนนี้จริง ๆ ครับ