ชมพู่ วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะต้องใช้ความกล้าหาญและเสียสละมากขนาดไหนถึงจะกล้ายืนหยัดปกป้องและดูแลเด็ก ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็เป็นหนึ่งในผู้สูญเสียเช่นเดียวกัน ชมพู่ – วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ สูญเสียญาติพี่น้องไปแล้วถึง 4 คนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่วันนี้เธอยังคงมุ่งมั่นทำภารกิจช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่สูญเสียพ่อแม่ด้วยความหวังว่าสักวันสันติภาพจะเกิดขึ้นได้จริง

จากการรวมตัวของเด็ก ๆ ในหมู่บ้านที่อยากทำกิจกรรมเพื่อสังคมในปี 2545 ใช้ชื่อว่า “กลุ่มลูกเหรียง” ชมพู่เป็นแกนนำในการรณรงค์เรื่องการยืดระยะเวลาแต่งงานของเด็กในหมู่บ้าน เนื่องจากสมัยก่อนเด็กหญิงชาวมุสลิมเมื่อจบชั้นป.6 ก็จะมีผู้ชายมาดูตัวและเตรียมแต่งงาน จากความสำเร็จในการทำกิจกรรมแรกของกลุ่ม ในเวลาต่อมากลุ่มลูกเหรียงก็ได้ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกหลายประเด็น จนกระทั่งในปี 2547 ที่เริ่มมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น

ชมพู่สูญเสียพี่ชายคนที่หนึ่งไป เพื่อน ๆ สมาชิกกลุ่มลูกเหรียงหลายคนก็สูญเสียญาติพี่น้องและคนในครอบครัว และแม้จะโศกเศร้ากับความสูญเสียของตัวเอง แต่การได้รู้ได้เห็นกับตาว่ามีเด็ก ๆ อีกมากมายที่ประสบชะตากรรมไม่ต่างกับตัวเอง และยังไม่รู้ว่าจะดำเนินชีวิตต่อไปท่ามกลางสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ได้อย่างไร ทำให้ชมพู่และกลุ่มลูกเหรียงตัดสินใจยืนหยัดที่จะทำงานด้านการเยียวยาและการยุติความรุนแรง แม้จะรู้ว่างานที่กำลังทำนี้ลำบากและเสี่ยงอันตรายเหลือเกิน

“เมื่อมีคนสูญเสียมากขึ้น มีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้น มีเหตุการณ์เกิดขึ้นเยอะแยะในบ้านเรา ก็คิดว่าประเด็นอันดับแรกที่สำคัญสุดก็เป็นประเด็นในเรื่องของการทำงานด้านสิทธิ ด้านการเยียวยา ด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้านการยุติความรุนแรงในพื้นที่” ชมพู่กล่าว

เด็ก ๆ ที่เข้าสู่กระบวนการเยียวยาของกลุ่มลูกเหรียงมีทั้งเด็กที่สูญเสียพ่อแม่ไปในเหตุการณ์ความไม่สงบ บางคนพ่อถูกยิง แม่ถูกยิง บางคนพ่อแม่ถูกระเบิด บางคนพ่อถูกอุ้มหายตัวไป และเด็ก ๆ ที่สูญเสียเหล่านี้ก็มีอาการหลายแบบ บางคนเก็บตัว ร้องไห้ตลอดเวลา บางคนไม่คุย ไม่กินข้าว บางคนอาจดูร่าเริงแต่ก็ไม่อาจรู้ได้ว่าลึก ๆ ในใจนั้นเด็ก ๆ แบกรับความรู้สึกอะไรไว้ ทั้งหมดนี้ทำให้การทำงานของกลุ่มลูกเหรียงไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย

“ตอนใหม่ ๆ เนี่ยยากมากเลย จริง ๆ เหมือนเข้ามาก็ไม่ได้มีประสบการณ์อะไรเยอะ เราก็เป็นแค่เด็กกิจกรรม เราก็ครูพักลักจำเรื่องงานเยียวยาที่เราเคยไปสังเกตการณ์ ไปเป็นผู้ช่วย ไปเป็นล่าม คนอื่น ๆ ที่มาทำงานเยียวยาก็คนในพื้นที่ เราก็ใช้กระบวนการแล้วก็อ่านหนังสือเยอะมากช่วงนั้น” ชมพู่ศึกษาเรื่องงานเยียวยาจากการอ่าน ซึ่งในตอนนั้นก็ยังมีหนังสือประเภทนี้ไม่มากนัก อาศัยอ่านตามเว็บไซต์บ้าง ศึกษาจากกรณีที่คล้ายกันบ้าง เช่นการเยียวยาผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรง เป็นต้น แล้วก็นำมาปรับใช้กับเด็ก ๆ ในกลุ่มลูกเหรียง

นิสัยรักการอ่านของชมพู่นี้ เธอกล่าวว่ามีติดตัวมาตั้งแต่ยังเด็ก เด็กหญิงชมพู่แม้จะเป็นเด็กที่เรียนดีแต่ก็มีความคิดว่าหนังสือเรียนน่าเบื่อ และคิดว่าอยากจะหาหนังสืออย่างอื่นมาอ่านและแบ่งปันกับเพื่อน ๆ บ้าง ชมพู่จึงเริ่มจากห้องสมุดโรงเรียนของเธอเอง โดยการอาสาไปเป็นผู้ดูแลห้องสมุดโรงเรียน แม้หนังสือในห้องสมุดจะมีไม่เยอะมากแต่ชมพู่ก็เจียดเงินค่าขนมบางส่วนของตัวเองไปซื้อหนังสือทุกครั้งที่มีโอกาสได้เข้าเมือง ห้องสมุดโรงเรียนจึงมีหนังสือใหม่ ๆ จากชมพู่มาวางเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ชมพู่จัดห้องสมุดให้มีบรรยากาศน่านั่งมากขึ้นและเชิญชวนเพื่อน ๆ ให้มาอ่านหนังสือและพบปะพูดคุยกันในช่วงพัก

ความรักการอ่านที่มีมาแต่เด็กนี้เองที่ทำให้ชมพู่เรียนรู้งานด้านการเยียวยาได้เร็ว ไม่เพียงเท่านี้ ชมพู่ยังพยายามปลูกฝังนิสัยรักการอ่านนี้ให้กับเด็ก ๆ ในบ้านลูกเหรียงอีกด้วย “ในลูกเหรียงก็จะมีชั้นวางหนังสือ ตอนกลางวันเด็ก ๆ ก็ต้องไปโรงเรียน แต่ในช่วงที่ว่างก็ไม่อยากให้เด็ก ๆ ได้ว่าง ไม่อยากให้เด็ก ๆ ได้มีเวลาคร่ำครวญกับชีวิตมาก ก็จะมีหนังสือเยอะ ก็จะให้เค้าใช้เวลาช่วงนั้นอ่านหนังสือ”

ชมพู่ วรรณกนก เปาะอิแตดาโอะความพยายามของชมพู่สัมฤทธิ์ผล แม้ในยามที่ต้องสูญเสียคนสำคัญในชีวิตไป เด็ก ๆ ในบ้านลูกเหรียงก็ยังได้พบว่าหนังสือสามารถเป็นเพื่อนและครูที่ดีให้กับพวกเขาได้ หนังสือที่เข้ามาสู่กลุ่มลูกเหรียงจะผ่านการคัดกรองมาเป็นอย่างดี และเมื่อมีเล่มใหม่ ๆ เข้ามาก็จะถูกจับจองอย่างรวดเร็ว “ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยเยียวยาเด็กได้ดี กระบวนการเยียวยามันไม่ใช่แค่ค่าเยียวยาแล้วก็เสร็จ แต่กระบวนการมันต้องใช้ทุกอย่างมาผสมผสานกัน คนหนึ่งคน แค่เพื่อนใหม่หนึ่งคนก็เยียวยาเด็กได้ หนังสือเล่มหนึ่งก็เยียวยาเด็กได้ ทุกอย่างมันสามารถเอามาปรับใช้ได้ทั้งหมด”

ชมพู่จัดให้เด็ก ๆ มีการพบกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดแชร์ความรู้สึกกันในกลุ่มลูกเหรียงเป็นประจำทุกเดือน และก็ได้พบว่าเด็ก ๆ หลายคนเปลี่ยนความคิดและทัศนคติหลาย ๆ อย่างจากการอ่านหนังสือ “บางคนก็มาแชร์ว่าจริง ๆ การที่เราคิดว่าเราเป็นเด็กด้อยโอกาส จริง ๆ ไม่ใช่ เราบอกตัวเราเองว่าเราเป็นเด็กด้อยโอกาส ถ้าเราเปลี่ยนความคิดตัวเอง จริง ๆ ไม่ใช่เด็กด้อยโอกาส เราเป็นเหมือนเด็กอื่น ๆ ทั่วไป เพียงแต่เราแตกต่างจากเขาแค่เราไม่มีพ่ออยู่ด้วย ไม่มีแม่อยู่ด้วย แต่เรามีศักยภาพจะทำอะไรได้เหมือนเด็กอื่น ๆ ทั่วไป โซ่ที่ล่ามเราไว้คือความคิดเราเอง”

นอกจากนี้ชมพู่ยังให้ความสำคัญกับการเขียนอีกด้วย ในบ้านลูกเหรียงเด็ก ๆ ทุกคนจะต้องเขียนบันทึกหรือไดอารี่ บันทึกว่าแต่ละวันทำอะไรบ้าง รู้สึกอย่างไรบ้าง “คิดว่าไดอารี่ก็ช่วยเขาได้ในเรื่องของการได้บอกเล่าตัวเอง เพราะว่าลูกเหรียงเราก็มีคนดูแลอยู่สองสามคนเอง ก็ไม่มีเวลาที่จะมารับฟังความรู้สึก มาแชร์อะไรกับน้องเยอะ ถ้าเด็ก ๆ มีโอกาสได้เขียนก็จะได้เรียนรู้ ได้มาพบกลุ่มมาแลกเปลี่ยนกัน ที่ผ่านมาอัพเดทอะไรเป็นอย่างไร”

ชมพู่กล่าวถึงหนังสือหลายเล่มที่เธอรู้สึกประทับใจ หนึ่งในนั้นที่เธอภูมิใจนำเสนออย่างยิ่งคือหนังสือ “เกิดมาเพื่อชนะ” หนังสือที่รวบรวมเรื่องราวความสำเร็จของบุคคลจากหลากหลายสาขาอาชีพของ บัณฑิต อึ้งรังษี และผู้เขียนร่วม ภานุมาศ คาดีวี

“หนังสือเล่มนี้คือตัวการันตีว่าคนที่อ่านหนังสือแล้ว ชีวิตเขาเปลี่ยนจากหนังสือ เราเคยรู้สึกว่าหนังสือคุณบัณฑิตช่วยให้เรารู้สึกมีความกล้ามากเลย เมื่อก่อนรู้สึกว่าตัวเองด้อยในหลาย ๆ เรื่อง แต่คุณบัณฑิตทำให้เรามั่นใจ เปลี่ยนแนวความคิดของเราหลาย ๆ อย่าง จนเราแบบว่า เอ๊ะ นี่ฉันเปลี่ยนอยู่คนเดียวหรือเปล่า ก็เลยมีหนังสือเล่มนี้แหละที่บอกว่าฉันไม่ได้เปลี่ยนอยู่คนเดียว มันมีประสบการณ์ มันมีชุดบทเรียน แล้วก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีคนอ่านหนังสือแล้วสามารถเปลี่ยนชีวิตเขาได้จริง ๆ มันมีคนที่ประสบความสำเร็จอยู่ในเล่มนี้มากมาย เราอาจจะไม่ได้ครึ่งของเขานะ แต่รู้สึกว่าที่ชีวิตเราเริ่มเปลี่ยนมันเป็นความจริง เพราะว่าคนอื่นเขาก็มีบทเรียนที่เป็นของจริง พิสูจน์ได้อยู่ในเล่มนี้หมดแล้ว ก็เลยเป็นเล่มที่รู้สึกชอบ ในเล่มนี้มันก็จะบอกเรื่องราว บอกที่มา บอกแรงบันดาลใจที่แต่ละคนได้จากหนังสือคุณบัณฑิตหลาย ๆ เล่ม มันเหมือนเรามีเพื่อนเพิ่มขึ้นอยู่ในนี้ เพื่อนที่เราไม่รู้จักแต่เราก็มารู้จักชีวิตของเขาในนี้” ชมพู่กล่าวถึงหนังสือเล่มโปรด

ในวันนี้ชมพู่ก็ยังคงทำหน้าที่ช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไปอย่างเสียสละ ด้วยความหวังที่ว่าสักวันหนึ่งสถานการณ์จะดีขึ้น และคนไทยด้วยกันจะมองจังหวัดชายแดนใต้ในแง่บวกได้มากขึ้น ชมพู่ยังได้ทิ้งท้ายในเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดชอบที่เราทุกคนมีต่อเด็ก ๆ ไว้อย่างน่าประทับใจ

“เด็กบนโลกใบนี้ไม่ว่าจะเป็นลูกใคร แต่มันก็เป็นภาระหน้าที่ของคนทุกคนที่อยู่บนโลกใบนี้ เด็กทุกคนเป็นคนพิเศษ มันไม่ได้แปลว่าเขาเป็นลูกคนนั้นแล้วเราไม่ต้องดูแลเขา แต่ว่าด้วยความเป็นพลเมือง ด้วยความที่เราเป็นคนบนโลกใบนี้ มันเป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องช่วยกันดูแล ทำให้คนพิเศษที่อยู่บนโลกใบนี้ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน เท่าที่เราสามารถจะให้โอกาสได้ คิดว่าหนังสือนี่แหละคือโอกาสที่ดีที่สุดที่เราสามารถจะแบ่งปันกับคนอื่นได้โดยที่เราไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย”