Justice ความยุติธรรม“เป็นวิชาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ติดต่อกันกว่าสองทศวรรษ จนได้รับการบันทึกเทปออกสู่สายตาผู้ชมมากกว่า 4 ล้านคลิกในยูทูป” คำโปรยในหน้าปกเป็นสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจมากทีเดียว แต่ผู้อ่านอาจจะต้องมีความสนใจเรื่องราวแบบนี้จริง ๆ เพราะหนังสือเล่มนี้ท้าท้ายนักอ่านด้วยความหนากว่า 300 หน้า

เนื้อหาคร่าว ๆ ของ “ความยุติธรรม” เกี่ยวข้องกับหลากหลายแนวความคิด ไม่ว่าจะเป็น

อัตถประโยชน์นิยม

คือนิยามความยุติธรรมที่ตั้งคำถามว่าอะไรสร้างความสุขร่วมสูงสุดในสังคม ฟังดูอาจจะเข้าใจยาก แต่วิธีคิดนี้มองสังคมเป็นเหมือนคนคนหนึ่ง ถ้ากิจกรรมใดหรือแบบแผนใดที่ทำให้สังคมส่วนรวมมีความสุข แบบแผนนั้นถือว่ายอมรับได้ แต่…ความคิดนี้ก็ถูกโต้แย้งด้วยตัวอย่างที่น่าสนใจมากมาย เช่น ในสมัยโบราณการที่ชาวโรมจับชาวคริสต์โยนให้สิงโตขม้ำในสนามกีฬาเพื่อความบันเทิงถือว่ายุติธรรมหรือไม่ เพราะชาวโรมมองเรื่องนี้เป็นกีฬาและชาวโรมส่วนใหญ่มีความสุข…แต่มันขัดแย้งกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิส่วนบุคคล หรืออีกตัวอย่าง หากเราบอกว่าในสังคมหนึ่งคนส่วนใหญ่ไม่เอาศาสนา ก็ทำการยกเลิกศาสนา ซึ่งก็จะทำให้คนส่วนน้อยที่นับถือศาสนามีความทุกข์ เป็นต้น

 เสรีภาพ

เป็นแนวคิดของความยุติธรรมที่มองว่า การกระจายรายได้และกิจกรรมในสังคมเกิดจากการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในตลาดเสรีโดยที่ไม่มีการควบคุมโดยรัฐ ตัวอย่างเรื่องนี้มีหลากหลาย เช่น การที่บิล เกต หรือ ไมเคิล จอร์แดน ร่ำรวย ถือว่าเป็นความสามารถและทำให้สังคมได้ประโยชน์จากสิ่งที่ บิล เกต คิด และความบันเทิงที่ได้ชมลีลาของ ไมเคิล จอร์แดน แต่แนวคิดนี้ก็ถูกท้าทาย เช่นในคราวที่รัฐฟลอริดาถูกถล่มด้วยพายุเฮอริเคนเคทเทอรีน่าในปี 2004 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 22 รายและก่อความเสียหายกว่า 11,000 ล้านเหรียญ ซึ่งเป็นที่มาของการโก่งราคาหลังจากเหตุการสงบลง ปั๊มน้ำมันขายน้ำแข็งราคา 10 เหรียญ (ประมาณ 300 บาท) จากปกติ 2 เหรียญ (60 บาท) เครื่องปั่นไฟปกติราคา 250 เหรียญ (7,500 บาท) ขายราคา 2,000 เหรียญ (60,000 บาท) หญิงชราอายุ 77 ปีที่หนีตายพร้อมกับสามีชราและลูกสาวผู้พิการต้องจ่ายค่าที่พักที่เป็นโรงแรมม่านรูดจากปกติ 40 เหรียญ (1,200 บาท) เป็น 160 เหรียญ (4,800 บาท) ซึ่งเหล่านี้ทำให้ชาวเมืองฟลอริดาไม่พอใจและตะลึงกับความโลภของผู้ประกอบการแต่ละรายที่ค้ากำไรเกินควร แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่ามันเป็นกลไกของตลาด เรื่องราวแบบนี้ทำให้หลังอุบัติภัยมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นมากมายเกี่ยวกับการให้บริการที่ไม่ยุติธรรม เรื่องนี้น่าสนใจมากเนื่องจากว่ามีนักคิดหลายคนมองว่ามันเป็นกลไกตลาด และอเมริกาเองก็ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก แต่ก็มีนักคิดบางคนบอกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นปกติในตลาดเสรี เพราะมันเกิดขึ้นจากอุบัติภัย ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า แนวคิดเสรีทำให้เกิดความยุติธรรมจริงหรือไม่…

คุณธรรมและศีลธรรม

เป็นแนวคิดที่มองความยุติธรรมเกี่ยวข้องกับศีลธรรม เรามาดูตัวอย่างเรื่องนี้ในวิวาทะว่าใครสมควรได้รับเหรียญกล้าหาญของสังคมอเมริกัน ตั้งแต่ปี 1932 กองทัพอเมริกามอบเหรียญกล้าหาญให้กับทหารที่บาดเจ็บหรือล้มตายจากอาวุธของศัตรู นอกเหนือจากเกียรติยศ ผู้รับเหรียญกล้าหาญยังได้รับสิทธิพิเศษในโรงพยาบาลทหารผ่านศึก แต่ตั้งแต่เริ่มสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน ทหารผ่านศึกป่วยเป็นโรคเครียดจากภาวะหวาดผวาจนต้องเข้ารับการรักษามากขึ้นเรื่อย ๆ อาการเหล่านี้มีตั้งแต่ฝันร้ายซ้ำซาก หดหู่อย่างรุนแรง และฆ่าตัวตาย ทหารผ่านศึกไม่น้อยกว่า 300,000 นาย ป่วยเป็นโรคนี้หรือมีภาวะหดหู่รุนแรง นักรณรงค์เพื่อทหารผ่านศึกเสนอว่า พวกเขาสมควรได้รับเหรียญกล้าหาญด้วย ในเมื่อบาดแผลทางจิตใจทำร้ายคนได้เท่ากับบาดแผลทางกาย ทหารที่ทนทุกข์ทรมานจากบาดแผลทางใจก็สมควรได้รับเหรียญกล้าหาญเช่นกัน…แต่ข้อถกเถียงก็มีมากมาย เช่นโรคเครียดเป็นโรคที่วินิจฉัยยาก รวมทั้งทหารผ่านศึกกลุ่มหนึ่งมองว่าการมอบเหรียญกล้าหาญให้คนเหล่านี้เป็นเรื่องเสื่อมเสีย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าทัศนคติที่ฝังลึกของกองทัพซึ่งมองโรคเครียดมาจากภาวะที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอ….จะเห็นว่าความยุติธรรมไม่ว่าจะมองมิติไหนก็จะมีข้อที่ขัดแย้งหรือเห็นต่างได้เสมอ…

เรื่องราวในหนังสือมีมากกว่าที่ยกตัวอย่างมาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นระบบโควต้ายุติธรรมไหม การปกป้องคนในครอบครัวเดียวกันยุติธรรมต่อสังคมหรือไม่ เป็นสิ่งที่ล้วนน่าขบคิดและมองย้อนกลับมายังบ้านเมืองของเรา เช่น การทำนโยบายรถคนแรก มีความยุติธรรมหรือไม่เมื่อมองกลับไปยังแนวคิดเรื่องของอรรถประโยชน์นิยม คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จริงไหม หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ได้บอกว่าความยุติธรรมแท้จริงเป็นอย่างไร ในความเห็นของผู้อ่าน ผู้เขียนพยายามจะสื่อให้เห็นบริบททั้งหมดของความยุติธรรมและการนำไปใช้ในแต่ละสังคม ดังนั้นความยุติธรรมในอเมริกาอาจจะต้องนำมาปรับใช้เมื่อจะเอามาใช้กับเมืองไทย แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างหนึ่งในสังคมที่เจริญแล้วก็คือ ความยุติธรรมเป็นเรื่องที่สังคมนั้น ๆ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก อยากให้สังคมไทยมองเรื่องนี้อย่างจริงจังบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องของความยุติธรรมให้กับผู้บริโภค การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับคนพิการเพื่อสร้างความเท่าเทียม หรือการดำเนินคดีความต่าง ๆ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะมีชื่อเสียงหรือมีอำนาจในสังคมมากเพียงไร…หวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นสักวันในสังคมไทย อันเป็นที่รักของเรา….

ชมบรรยากาศ การบรรยายวิชาความยุติธรรม ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=kBdfcR-8hEY