Outliersเย็นย่ำวันธรรมดาวันหนึ่ง ผมเดินเข้าร้านหนังสือร้านประจำด้วยความเคยชิน แม้จะคิดอยู่ในใจว่าวันนี้คงยังไม่มีหนังสือใหม่ที่ผมสนใจออกวางขาย แต่เมื่อเห็นหน้าปกของหนังสือเก่าเล่มหนึ่งที่นำมาพิมพ์ขายอีกครั้ง ก็อดหยิบขึ้นมาเปิดดูไม่ได้ แม้ที่บ้านจะมีอยู่แล้ว และแม้จะเคยอ่านไปแล้วก็ตาม เพราะนี่เป็นหนึ่งในหนังสือเล่มโปรดจากนักเขียนที่ผมชื่นชอบ

หนังสือเล่มนี้คือ Outliers เขียนโดย Malcolm Gladwell หรือในชื่อไทยว่า “สัมฤทธิ์พิศวง” แปลโดย พูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ, วิโรจน์ ภัทรทีปกร และ วิญญู กิ่งหิรัญวัฒนา ซึ่งสำนักพิมพ์วีเลิร์นนำมาจัดพิมพ์ใหม่และวางขายอีกครั้ง

ผมกระหายใคร่รู้อยู่เสมอว่าเหตุใดคนคนหนึ่งถึงประสบความสำเร็จ มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เขาไปถึงเป้าหมาย และจะทำอย่างไรผมถึงจะมีคุณสมบัติเหล่านั้น ช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายปีผมจึงใช้เวลาไปกับหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จไปแล้วมากมายหลายเล่ม รวมถึง Outliers เล่มนี้ด้วย

ผมรู้สึกหดหู่เล็กน้อยที่ได้เรียนรู้จาก “สัมฤทธิ์พิศวง” ว่า ปัจจัยบางอย่างที่ทำให้เราประสบความสำเร็จนั้น เราไม่สามารถควบคุม เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขอะไรได้เลย แต่ในทางกลับกันหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้ผมมีมุมมองในเรื่องความสำเร็จที่แยบคายมากขึ้น มากพอที่จะมองเห็นปัจจัยที่ผมสามารถควบคุม เปลี่ยนแปลงและพลิกชีวิตตัวเองได้

อะไรบ้างล่ะครับที่เราควบคุมไม่ได้ เดือนเกิดหรือปีเกิด เชื้อชาติ หรือประวัติความเป็นมาของครอบครัว เป็นเรื่องที่ทำใจได้ยากที่จะยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้มีผลต่อความสำเร็จของคนเรา เราแสร้งทำเป็นเข้าใจมาตลอดว่าความสำเร็จเป็นเรื่องของความฉลาด ความเก่ง ความสามารถเฉพาะตัว ความทุ่มเท ความพยายาม แต่ Outliers กลับนำเสนอและแสดงหลักฐานมากมายให้เราเห็นว่าความสำเร็จไม่ได้เรียบง่ายขนาดนั้น

Gladwell แบ่งเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ ส่วนแรกคือเรื่องของโอกาส ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่นักฟุตบอลเยาวชนทีมชาติเช็กมากกว่าร้อยละ 70 เกิดในเดือนมกราคมถึงมีนาคม ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่บิล เกตส์ หรือสตีฟ จ็อบส์ หรือบิล จอย และอัจฉริยะแห่งวงการคอมพิวเตอร์หลายคนเกิดในปี 1954-1955 เราแทบไม่เคยคิดเลยว่าการเกิดช้าหรือเร็วไปแค่ไม่กี่ปีหรือไม่กี่เดือนก็สามารถทำให้เราพลาด “โอกาสที่จะฉกฉวยโอกาส” เอาไว้ได้

ส่วนที่สองคือเรื่องของมรดก Gladwell ชี้ให้เห็นว่ามรดกทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของอำนาจของชนชาติเกาหลีเป็นสาเหตุให้โคเรียนแอร์เป็นสายการบินที่ประสบโศกนาฏกรรมเครื่องบินตกซ้ำซาก และวัฒนธรรมที่หล่อหลอมมาจากการปลูกข้าวของชาวจีนก็ทำให้นักเรียนจีนเก่งคณิตศาสตร์มากกว่านักเรียนตะวันตก แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่ผู้เขียนก็แจกแจงทฤษฎีเอาไว้อย่างสร้างสรรค์จนเราปฏิเสธไม่ได้

ผู้เขียนร้อยเรียงเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างน่าตื่นเต้น กระตุ้นความอยากรู้ของผู้อ่านด้วยการผูกปมปริศนาต่าง ๆ ชวนให้สงสัย แล้วค่อย ๆ คลี่คลายออกมาเป็นข้อสรุปที่แม้จะสวนทางกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นเหตุเป็นผลอย่างที่ไม่อาจโต้แย้งได้

สิ่งหนึ่งที่ Gladwell เน้นย้ำอยู่เสมอก็คือ ความสำเร็จของคนคนหนึ่งไม่ได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่มาจากพันธุกรรมหรือสิ่งใด ๆ ที่ธรรมชาติให้มาและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ในเล่มคุณจะได้พบกับเรื่องราวของคริส แลงแกน ชายผู้มีสมองอันฉลาดปราดเปรื่องจนยากจะหาผู้ใดในโลกนี้เทียบเท่าได้ แต่กลับไม่ได้สร้างผลงานใด ๆ ให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้เลย และยังมีเรื่องราวของเด็กอัจฉริยะมากมายที่เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ล้มเหลวในชีวิต

ในขณะเดียวกันตัวอย่างของโคเรียนแอร์ที่เรียนรู้และปฏิวัติตัวเอง จากสายการบินที่คนเข็ดขยาดพลิกกลับมาเป็นสายการบินที่มีความปลอดภัยสูงที่สุดในโลกได้นั้น ก็บอกกับเราอย่างชัดเจนว่า ในบางครั้งแม้แต่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเราก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงมันไปในทางที่ดีขึ้นได้

เมื่อเราเข้าใจและยอมรับถึงปัจจัยบวกและลบที่เรามีได้โดยแท้จริงแล้ว เราจึงจะสามารถเดินเครื่องมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จได้อย่างถูกทิศทาง เราควบคุมกลไกความสำเร็จในส่วนที่เราควบคุมได้ และแม้จะมีบางส่วนที่เราควบคุมไม่ได้ แต่เราอาจจะสามารถค่อย ๆ เรียนรู้เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง หรืออย่างน้อยก็ทดแทนมันด้วยคุณสมบัติอื่น ๆ ให้มากขึ้น

“สัมฤทธิ์พิศวง” ทำให้ผมมีมุมมองต่อ “ความสำเร็จ” ในแบบที่เป็นจริง ไม่ใช่แบบโลกสวย เพราะใช่ว่าคนที่มีพรสวรรค์ทุกคนจะได้รับพรแห่งความสำเร็จ ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกมากเพื่อให้ได้รับพรนั้น และหนังสือเล่มนี้ก็ได้บอกเอาไว้แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร